ด้วยการเสื่อมสภาพของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา มีปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัย ที่ทำให้ภาพจิตรกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลทางโบราณวัตถุสถานและประวัติศาสตร์นี้ไว้ ทางกรมศิลปากร ได้ร่วมมือกับบริษัท เซรามิกา อิมเมจ จำกัด ทำการจำลองกรุและคัดลอกภาพจิตรกรรมเท่าที่ยังอยู่สภาพดีในปัจจุบัน เพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าชมโดยไม่ต้องลงไปภายในกรุจริง และเป็นการอนุรักษ์ข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีนี้ไว้ให้แก่คนรุ่นต่อไป ซึ่งปัจจุบัน ทางกรมศิลปากรได้ทำการปิดกรุในพระปรางค์จริง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพและความไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนที่ลงไปในกรุ
ภายในอาคารเครื่องทองอยุธยา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นอกเหนือจากห้องจัดแสดงหลัก ชั้น 2 ที่ได้ทำการจำลองกรุและคัดลอกภาพจิตรกรรม กรุชั้นที่ 2 เสมือนจริงบนแผ่นกระเบื้องเซรามิกแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ยังได้จัดนิทรรศการพิเศษในหัวข้อเรื่อง "กว่าจะมาเป็นการคัดลอกภาพจิตรกรรมกรุวัดราชบูรณะเสมือนจริงลงบนแผ่นกระเบื้องดินเผา" ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการชั้น 1 โดยนิทรรศการดังกล่าว จะทำให้เราได้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นของภาพจิตรกรรม กระบวนการเก็บข้อมูลภาพและขนาดในแต่ละขั้นตอน กระบวนการผลิตและการติดตั้งโดยผู้ผลิต Otsuka Ohmi Ceramics Co., Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นเยี่ยมในการบันทึกข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีได้เสมือนจริง
ภายในงานนิทรรศการนี้ นอกจากจะอธิบายกระบวนการคัดลอกภาพจิตรกรรมกรุวัดราชบูรณะลงบนแผ่นกระเบื้องเซรามิก ยังมีผลงานคัดลอกภาพจิตรกรรมโบราณเก่าแก่ของประเทศญี่ปุ่นมาจัดแสดง เพื่อให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยผู้เข้าชมจะเห็นงานคัดลอกที่ให้ผิวสัมผัสเสมือนผนังเก่าที่มีร่องรอยตื้นลึก แตกร้าว ตามสภาพความเป็นจริง ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เรียนรู้กระบวนการคัดลอกที่มีความซับซ้อนและมีความเสมือนจริงทั้งสีสันและผิวสัมผัส ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้รับตัวอย่างผลงานคุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้
โดยนิทรรศการนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567
ณ อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ตั้งแต่เวลา 09:00 - 16:00 น. (ปิดทำการวันจันทร์)
หนึ่งในบอร์ดนิทรรศการภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ
“ภาพวายุเทพและวิทยุตเทพ /เทพแห่งสายลม และเทพแห่งสายฟ้า” (Wind God and Thunder God Screens) บนแผ่นเซรามิก มรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น
“ภาพสตรีสวมต่างหูมุก” (Girl with a Pearl Earring) ภาพเขียนเทคนิคสีน้ำมัน ผลงานชิ้นเอกของโจฮันเนส เฟอร์เม (Johannes Vermeer) บนแผ่นเซรามิก
ตัวอย่างชิ้นงานคัดลอกจิตรกรรมกรุชั้นที่ 2 บนแผ่นเซรามิก
สมบัติล้ำค่าประจำชาติ “ภาพจิตรกรรมเขียนสีภายในสุสานทากะมะซึสึกะ” (Wall Painting of Takamatsuzuka Tumulus) สร้างในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 – ต้นศตวรรษที่ 8 คัดลอกบนแผ่นเซรามิก