top of page

มรดกวิจิตรศิลป์ จิตรกรรมคู่แผ่นดินที่ควรสืบสาน

จิตรกรรมฝาผนังนับเป็นวิจิตรศิลป์ที่ทรงคุณค่า ถือเป็นมรดกของบรรพชนที่ได้มอบไว้สะท้อนภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นในประเทศไทย ซึ่งเปี่ยมไปด้วยมรดกที่เป็นวิจิตรศิลป์อยู่ทั่วทุกภูมิภาคถูกแต่งแต้มอยู่ตามโบราณสถานผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน จึงเป็นธรรมดาที่จะได้รับผลกระทบจากการเสื่อมสภาพจากกาลเวลา สภาวะอากาศ สภาพแวดล้อม การก่อสร้างแต่งเติม บูรณะผิดวิธีจากผู้ใช้พื้นที่ หรือการไม่เข้าใจและเห็นคุณค่าของงานจิตรกรรม การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้านจิตรกรรมต้องไม่ใช่แค่เพียงการซ่อมแซมให้ได้สภาพสมบูรณ์ดังเดิม ไม่ลำพังแต่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งเป็นบทบาทของภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่และโอกาสของผู้ที่มีศักยภาพพร้อม ที่จะช่วยกันกอบกู้เกื้อกูลมรดกแขนงจิตรกรรม ให้คงสืบทอดผ่านรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนอารยะของประเทศ

 

พระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา

สถานที่: พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ตำแหน่ง: ผนังด้านทิศตะวันตก ห้องภาพที่ 1

ขนาด: สูง 248 ซม. กว้าง 188 ซม.

ภาพต้นฉบับ จิตรกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1)

ภาพจำลอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2552 ปัจจุบันติดตั้งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เจ้าฟ้า

เทคนิค: การพิมพ์ภาพลงบนแผ่นเซรามิก ขนาดพิเศษ ผ่านกระบวนการเผาที่อุณหภูมิ 1,300 องศาเซลเซียส

Screen Shot 2563-08-13 at 11.49.17 AM.pn

ภาพมงคลวิวาหะของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา

จำลองมาจากส่วนหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวถึงเหตุการณ์อภิเษกสมรสครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างเจ้าชายแห่งศากยวงศ์และเจ้าหญิงแห่งวงศ์โกลิยะ ขณะที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา พิธีจัดขึ้น ณ อโศกอุทยาน นครเทวทหะ ตามตำนานพุทธศาสนากล่าวว่า เหล่าเทพเทวดา มีพระพรหม พระอินทร์ เป็นประธานเสด็จมาร่วมเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว นอกเหนือไปจากพระบรมวงศานุวงศ์และพระประยูรญาติของทั้งสองราชวงศ์ จิตรกรสมัยต้นรัตนโกสินทร์เขียนภาพที่มีรายละเอียดจำนวนมาก โดยวางภาพบุคคลสำคัญไว้ตรงกลางคือ เจ้าชายสุทโธทนะและเจ้าหญิงสิริมหามายา ประทับคู่กันภายในปราสาทจัตุรมุขคั่นกลางด้วยพานบายศรี รายล้อมด้วยภาพเหล่าเทพเทวดาและพระญาติ พระวงศ์

แนวคิด

โครงการคัดลอกภาพมงคลวิวาหะของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา เกิดจากการผสานความร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรม สำนักงานโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งมีภารกิจรับผิดชอบการบูรณะคัดลอก ซ่อมแซมภาพจิตรกรรมให้มีสภาพสมบูรณ์ ด้วยการใช้วิธีเชิงช่างให้ถูกต้องตามแบบของบรรพชนที่สร้างสรรค์เป็นลวดลายไว้ และต้องมีการใช้วิทยาการเทคนิค ตลอดจนแนวคิดสมัยใหม่เพื่อจะบันทึกผลงานคัดลอกออกมาให้เหมือนจริงทุกองค์ประกอบ การพยายามพิทักษ์รักษาผลงานที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานนั้น สามารถจะคัดลอกออกมาในรูปแบบสำเนาเหมือนต้นฉบับให้อยู่ได้อย่างคงทนถาวร

 

บริษัท เซรามิกา อิมเมจ จำกัด จึงได้นำเสนอวิธีการเพื่อสืบสานการอนุรักษ์ในรูปแบบการถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ใช้เทคนิคการคัดลอกและถ่ายทอดภาพจิตรกรรมฝาผนังลงบนแผ่นเซรามิกในขนาดเท่าจริง รายละเอียดมีความสมจริงเหมือนต้นฉบับและอยู่ได้อย่างคงทนถาวร สามารถนำไปติดตั้งหรือจัดเก็บในสถานที่อื่นได้ ซึ่งเป็นวิทยาการที่ก้าวหน้าในการสำเนาคัดลอกภาพสำคัญที่เป็นมรดกโลก เช่น ภาพจิตรกรรมสำคัญจากสถานที่และพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ มาเป็นผลงานเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสชื่นชมใกล้ชิดและสัมผัสได้ โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นพัฒนาต้นแบบการอนุรักษ์แนวทางใหม่ที่จะช่วยรักษาและสืบทอดภาพจิตรกรรมไทยอันเป็นสมบัติของชาติไว้เป็นข้อมูลสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไป

กระบวนการผลิต

ถ่ายรูปต้นฉบับจริง

กระบวนการแยกสี

กระบวนการทำแม่พิมพ์

กระบวนการเผา

ตรวจสอบคุณภาพ

ระยะเวลาในการผลิต 12 เดือน

 

ปัจจุบัน ภาพคัดลอกมงคลวิวาหะของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายาบนแผ่นเซรามิก ผนังที่ 1 ดังกล่าว ยังคงมีความสมบูรณ์ สวยงาม และคงความทนทานคู่ควรกับความล้ำค่าของงานศิลปกรรมไทย นับตั้งแต่การส่งมอบเมื่อปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 11 ปี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เจ้าฟ้า

bottom of page