top of page

โบราณคดีสันนิษฐานกับการจำลองและคัดลอกจิตรกรรมประดับผนังวัดอุโมงค์

เพื่อนำมาจัดแสดงในรูปแบบเสมือนจริง

ด้วยประสบการณ์ในการจำลองกรุและคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังในช่องกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ลงบนแผ่นเซรามิกเพื่อจัดแสดงในห้องนิทรรศการเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ความเสมือนจริงทั้งการจำลองกรุและการคัดลอกลายจิตรกรรมจึงเหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นเทคนิคหลักในการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์ วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเค้าความงาม ลวดลาย สีสัน และองค์ประกอบจิตรกรรมที่มีคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะของล้านนา 


จากการลงพื้นที่สำรวจภายในวัดอุโมงค์ เพื่อทำการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อคัดลอกลวดลายจิตรกรรม บริษัท เซรามิกา อิมเมจ จำกัด ได้พบกับ ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม “โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดลอก ศึกษาและเผยแพร่จิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ อันเป็นจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของศิลปะล้านนาเพียงแห่งเดียวที่เหลือหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน โดยเริ่มจากการพยายามคัดลอกลายภาพจิตรกรรมเมื่อ ปีพ.ศ.2538 ผลจากการเปิดผิวที่ถูกคราบหินปูนและคราบน้ำปูนที่ทับอยู่ ทำให้สามารถสันนิษฐานแบบแผนทางการเขียนของภาพจิตรกรรมได้ง่ายขึ้น อ.สุรชัย ได้ใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ จนได้ภาพรวมในแนวระนาบของพื้นที่จิตรกรรมทั้งหมด และสามารถวิเคราะห์ออกมาเป็นภาพลายเส้นสองมิติได้ง่ายขึ้น มีความถูกต้องใกล้เคียงความจริงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จนเกิดเป็นความสวยงามเสมือนจริงของภาพจิตรกรรมลายดอกบัวสีแดงสลับสีเขียว วางซ้ำไปมาเป็นลายแพทเทิร์นตลอดอุโมงค์ สีสันที่สวยสดงดงามประกอบกับลวดลายที่ถูกเนรมิตร่องรอยในอดีตเมื่อช่วงสมัยห้าร้อยปีก่อนให้กลับคืนมา งานโบราณคดีในแบบของอ.สุรชัย จึงดูทันสมัย มีความน่าสนใจ สามารถนำมาใช้สื่อสารกับผู้คนโดยทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่าย


เป้าหมายในการศึกษาลวดลายและค้นคว้ารูปแบบเขียนภาพของอ.สุรชัย คือการคัดลอกลายภาพจิตรกรรมให้ครบทุกอุโมงค์ และทำภาพเคลื่อนไหวสามมิติในส่วนของอุโมงค์นก (อุโมงค์ส่วนที่หนึ่ง) ให้สำเร็จ ส่วนการบูรณะภาพจิตรกรรมจริงภายในอุโมงค์ คงต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาทำการอนุรักษ์ต่อไป 

การคัดลอกจิตรกรรมลงบนแผ่นเซรามิก ในรูปแบบจำลองเสมือนจริงทั้งลวดลายและมิติโครงสร้างแบบช่องอุโมงค์โค้งตามสัดส่วนจริง ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอนุรักษ์จิตรกรรมอันทรงคุณค่าที่นับวันยิ่งจะเสื่อมสลาย การอนุรักษ์สามารถทำได้ทั้งการคัดลอกลายจิตรกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ ณ ขณะปัจจุบัน หรือคัดลอกโดยใช้หลักการโบราณคดีสันนิษฐานจากนักวิชาการ โดยการสร้างลวดลายที่สันนิษฐานตามหลักวิชาการโบราณคดี ประกอบซ้อนทับ เชื่อมจุดที่ขาดหายและซีดจาง จนเกิดความสมบูรณ์ เพื่อให้เห็นร่องรอยความงดงามในอดีต และเป็นการฟื้นคุณค่างานจิตรกรรมที่ถูกเก็บงำในช่องอุโมงค์ จำลองออกมาเพื่อเป็นการสื่อสาร เรียนรู้ ให้เกิดความภาคภูมิในมรดกศิลป์แห่งล้านนาได้อย่างเปี่ยมคุณค่า

012-01.jpg

แผนผังภายในอุโมงค์ - อุโมงค์ส่วนที่หนึ่ง และอุโมงค์ส่วนที่สองที่ยังพอมีร่องรอยความสวยงามของภาพจิตรกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่

(ภาพ: วิสิฐ อรุณรัตนานนท์)

IMG_5474-1.jpg
IMG_5452.jpg
IMG_5482.jpg
001-02.jpg

ผศ.ดร.สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่            

ผู้ริเริ่ม “โครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์” 

ทางเดินภายในอุโมงค์ส่วนที่สอง ที่ยังคงมีภาพจิตรกรรมลายดอกบัวหลงเหลืออยู่

ภาพจิตรกรรมลายดอกบัว ภายในอุโมงค์ส่วนที่สอง  

ความสวยงามของภาพจิตรกรรมลายดอกบัวสีแดงสลับเขียว ภายในอุโมงค์ส่วนที่สอง กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง  โดยใช้ลวดลายจากการคัดลอกจิตรกรรมและสันนิษฐานภาพจำลองขึ้นด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิก                                    

 (ภาพ 3D โดยศิริพร เอี่ยววงศ์เจริญ สนับสนุนโดย อพวช.)

bottom of page