ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก อย่างที่เห็นล่าสุดในหลายจังหวัดทางภาคอีสานในขณะนี้ การเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน จึงเป็นสัญญาณที่ภาคส่วนที่รับผิดชอบควรเฝ้าระวังและป้องกัน และรองรับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น รวมไปถึงหน่วยงานทางด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปกรรม เช่น จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ หรือวิหาร ควรจะได้รับการคัดลอกอย่างเร่งด่วน ความงดงามที่ถ่ายทอดสู่จิตรกรรมฝาผนังในแต่ละแห่ง ล้วนแล้วแต่มีคุณค่า นับเป็นอารยศิลป์ที่เป็นสมบัติชาติ และนับเป็นมรดกโลก ในเวลาเดียวกัน
ความงดงามทางศิลปกรรม สืบทอดมาตั้งแต่อดีต หลายพื้นที่ของประเทศไทยเคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณหลายแห่งที่มีความสำคัญ มีความเจริญรุ่งเรือง บางแห่งเป็นราชธานี บางแห่งเป็นเสมือนเมืองหน้าด่านของเมืองหลวงเดิม อาณาจักรเหล่านี้ จึงเป็นแหล่งที่ได้รับอิทธิพลทางฝีมือช่างจิตรกรรมที่นับเป็นเอกแห่งช่างสมัยนั้น อาทิ
วัดศรีชุม จ.สุโขทัย ซึ่งมีพระอจนะ พระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย ขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.3 เมตร สูง 15 เมตร ประดิษฐาน ภายในผนังช่องกำแพงมณฑปที่มีความคับแคบคล้ายอุโมงค์ พบภาพลายเส้นสลักบนแผ่นหินชนวนที่เป็นเรื่องราวชาดก พระพุทธเจ้า 500 ชาติ จำนวน 64 ภาพ ซึ่งทุกภาพมีอักษรสมัยสุโขทัยบรรยาย ภาพจิตรกรรมนี้ มีอายุราว 700 ปี ถือว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระปรางค์ วัดมหาธาตุ จ.ราชบุรี เป็นภาพจิตรกรรมเก่าแก่ที่มีความสำคัญชิ้นหนึ่ง ภาพนี้เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาราวปี พ.ศ. 2040 ตามที่ อ.ศิลป พีระศรี ได้กำหนดอายุของภาพเขียนชิ้นนี้ไว้ ซึ่งเขียนหลังจากภาพจิตรกรรมภายในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเวลา 80 ปี ผนังส่วนบนเขียนภาพอดีตพุทธเจ้า ประทับนั่ง เป็นแถวเรียงต่อกัน มีซุ้มเรือนแก้วลวดลายดอกไม้ ตกแต่งเป็นฉากหลัง ส่วนล่างเป็นการเขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติ สภาพจิตรกรรมค่อนข้างเลือน และมีผนังบางส่วนถูกปิดทับด้วยคอนกรีต
วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยปลายอยุธยา เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีจิตรกรรมชิ้นสำคัญที่วาดขึ้นจากช่างฝีมือสกุลช่างเพชรบุรี รวมถึงศิลปกรรมแบบอื่นภายในวัด ทั้งงานสถาปัตยกรรม และประติมากรรม ภายในผนังพระอุโบสถ เราจะพบภาพจิตรกรรมเทพชุมนุมเรียงต่อกัน 5 ชั้น เต็มผนัง ทั้ง 2 ฝั่ง ภาพจิตรกรรมมี
ความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะ ลักษณะเด่นของภาพ เป็นการวาดภาพพระพรหม ยักษ์ ครุฑ ฤษี และเทวดา ไม่ซ้ำแบบกัน คั่นกลางองค์เทพด้วยลายดอกไม้ เขียนเต็มผนัง ซึ่งปัจจุบันภาพบนผนังส่วนใหญ่ได้เลือนหายไป แต่ยังคงร่องรอยของความงดงามในอดีตได้
จิตรกรรมชิ้นสำคัญข้างต้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งในหลายจิตรกรรมชิ้นเอกทั่วประเทศ ยังมีจิตรกรรมชิ้นสำคัญอีกมากมายที่ปรากฎอยู่ในพุทธสถานต่าง ๆ ที่งดงาม มีคุณค่า ควรแก่การคัดลอกเก็บไว้ ด้วยวิธีการที่สามารถบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของจิตรกรรมได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถนำมาต่อยอดเผยแพร่สู่สาธารณชน เพื่อความรู้ ความภาคภูมิในมรดกของชาติได้อย่างยั่งยืน
ภายในอุโมงค์วัดศรีชุม จ.สุโขทัย และภาพลายเส้นสลักบนแผ่นหินชนวน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังอดีตพุทธเจ้าประทับนั่ง ภายในพระปรางค์ วัดมหาธาตุ จ.ราชบุรี สภาพค่อนข้างเลือน
ภาพจิตรกรรมเทพชุมนุมเขียนเต็มผนัง ภายในพระอุโบสถ วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี พบว่าภาพส่วนใหญ่ได้เลือนหาย