อารยศิลป์ เพื่อมวลชน
เมื่องานศิลปะบนแผ่นกระเบื้องเซรามิก ถูกนำมาใช้เป็นงานศิลปกรรมในที่สาธารณะ
ปัจจัยที่สะท้อนคุณภาพชีวิตของคนในสังคม สามารถมองได้จากการจัดการสภาพแวดล้อมของเมือง ไม่ว่าจะเป็นมหานคร หรือชุมชนระดับท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมต่อการใช้งานของประชาชนในชีวิตประจำวัน และสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของบ้านเมืองนั้น ๆ จนอาจเรียกได้ว่า “ศิลปกรรมสะท้อนความผาสุกของผู้คน”
สภาพแวดล้อมของเมือง ในแต่ละพื้นที่นั้นครอบคลุมทั้งสภาพอาคาร บ้านเรือน สถานประกอบการ สถานที่ให้บริการประชาชน หน่วยงานของรัฐ พื้นที่สีเขียว สถานที่สาธารณะที่ประชาชนทุกคน ทุกวิถี ทุกสถานภาพ สามารถเข้าไปใช้พื้นที่เหล่านั้นได้อย่างตอบสนองความต้องการ พื้นที่สาธารณะที่ต้องรองรับการใช้งานของคนทุกคน ที่เรียกว่าเพื่อมวลชนนั้น การสร้างความโดดเด่นด้วยศิลปกรรม มีทั้งพื้นที่กลางแจ้งซึ่งเปิดโล่ง และพื้นที่ในร่ม ในอาคาร การสร้างสรรค์ผลงานในพื้นที่เหล่านี้ จึงต้องใช้วัสดุและเทคนิคที่ตอบโจทย์ความสวยงาม ความคงทน ตลอดจนการดูแลรักษา และทำความสะอาดได้ง่าย คุ้มค่าต่องบประมาณในการบำรุงรักษา
พื้นที่สาธารณะที่ต้องรองรับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น สวนสาธารณะ ซึ่งรองรับการใช้งานด้านการออกกำลังกาย เดินเล่น ปั่นจักรยาน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การแสดง การเล่นดนตรี การจัดงานออกร้าน พื้นที่ภายในสวนสาธารณะ เป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ให้เราได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ มีบึง ทะเลสาบ ให้ประชาชนภายเรือเล่นในวันหยุด พื้นที่สาธารณะเช่นนี้ สามารถนำงานศิลปะเข้ามาสร้างบรรยากาศของพื้นที่ให้มีผลต่อความสุขใจของประชาชน อาจจะสร้างเป็นงานประติมากรรม ภาพศิลปะนูนสูง บ่อน้ำพุ ซึ่งการสร้างงานภูมิสถาปัตย์เหล่านี้ สามารถนำวัสดุประเภทกระเบื้องเซรามิกมาถ่ายทอดการพิมพ์ภาพที่สวยงามทำให้เกิดจุดเด่นในพื้นที่ และเกิดประโยชน์ในทางกายภาพ อาทิ ลานกลางแจ้งที่มีผนังศิลปกรรมจากกระเบื้องเซรามิกขนาดยักษ์ ซึ่งโชว์ผลงานจิตรกรรม Impressionist จนเกิดเป็นลานกิจกรรมที่ดึงดูดทุกคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ ซึ่งอาจจะทำเป็นผนังกั้นพื้นที่หรือตกแต่งเป็นฉากศิลปกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ในบริเวณทางเข้าหลัก อาจมีแผนผัง แสดงบริเวณพื้นที่ภายในสวนธารณะ เพื่อให้ข้อมูลว่าเราอยู่จุดไหน และมีจุดสนใจอะไร เช่น ถ้าเราเข้าชมอุทยานพฤกษศาสตร์ เราจะเจอแผนผังขนาดใหญ่บอกตำแหน่งพื้นที่ซึ่งทำจากกระเบื้องสีสวยสด ติดตั้งเด่นชัดในรูปแบบแท่งประติมากรรมขนาดใหญ่ เด่นตา
ลานกลางแจ้ง ณ Otsuka Museum of Art ตกแต่งด้วยภาพศิลปะ “Water Litlies” ของศิลปินชื่อดัง Claude Monet
ภาพวาดมาสเตอร์พีซของศิลปินชื่อดังบนแผ่นกระเบื้องเซรามิก ติดตั้งภายในสวนศิลป์ “Garden of Fine Arts” เมืองเกียวโต ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังระดับโลก Tadao Ando
ป้ายแผนผังสวนโอโฮริ (Ohori Park) ติดตั้งที่บริเวณทางเข้าสวนสาธารณะกลางเมืองฟูกูโอกะ
ในด้านการใช้งานภายในอาคาร สามารถตกแต่งภายในโดยการสร้างงานศิลปกรรมบนแผ่นกระเบื้องเซรามิกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดคุณค่าต่อสถานที่นั้น เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน เมือง ซัปโปโร เกาะฮอกไกโด ใช้แผ่นกระเบื้องพิมพ์ภาพศิลปะ หลากสีสัน ติดตั้งตกแต่งผนังภายในอาคารของสถานี การใช้กระเบื้องเซรามิกแผ่นใหญ่เป็นเทคนิคที่ตอบโจทย์ในการออกแบบตกแต่งพื้นที่สาธารณะได้อย่างเหมาะสมต่อการใช้งาน เพราะการสร้างเฉดสีที่มากถึง 30,000 เฉดสี
การตกแต่งภายในด้วยศิลปกรรมพิมพ์ภาพบนกระเบื้องเซรามิก ติดตั้งบริเวณทางเดิน ภายในสถานีรถไฟใต้ดินเมืองซัปโปโร
การผลิตบนแผ่นกระเบื้องเซรามิกที่สีสันลวดลายเป็นเนื้อเดียวกับแผ่น สามารถผลิตผิวสัมผัสได้ทั้งผิวมัน เคลือบ ผิวด้าน ผิวสัมผัสนูนต่ำ หรือผิวที่ทำลูกเล่นเหมือนชมภาพวาดสีน้ำมันที่มีลิ่มสีป้ายหนา ๆ กระเบื้องเซรามิกจึงรองรับการจับต้อง ขูดขีดและรองรับการยืนพิง แม้กระทั่งในช่วงเวลาเร่งรีบที่ผู้โดยสารเดินเบียดตัวไปกับผนังซ้ำแล้วซ้ำอีก ความทนทานจึงเป็นทางเลือกที่ต้องคำนึง นอกจากนี้การติดตั้งที่มั่นคงต่อพื้นที่ใช้งานเป็นอีกปัจจัยหลัก ซึ่งในบางสถานที่ การติดตั้งกระเบื้องไม่ได้ยึดติดตายตัว แตกต่างจากการติดกาวกระเบื้องเช่นที่รู้กัน แต่จะมีการทำโครงสร้างโลหะรองรับ ยึดติดด้วยน็อตให้แน่น และสามารถคลายออกเพื่อเคลื่อนย้ายได้ หรือหากจะมีการต่อเติม ทุบรื้อเพื่อขยายอาคาร เราสามารถถอดสลักยึดออกจากโครงสร้างรองรับแล้วยกย้ายภาพออกมา โดยไม่ต้องทุบภาพนั้นทิ้ง เหมือนการติดตั้งแบบปิดผนังถาวร และเมื่อพัฒนาพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ภาพศิลปกรรมบนกระเบื้องก็จะสามารถนำกลับมาติดตั้งอีกครั้ง เพื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญ สะท้อนคุณค่าให้พื้นที่นั้นได้อย่างโดดเด่น ไม่เกิดการสิ้นเปลืองที่ต้องผลิตภาพศิลปกรรมนี้ขึ้นมาใหม่ริมตลิ่งของแม่น้ำในบางประเทศแถบยุโรป พื้นที่ตลิ่งซิเมนต์เรียบ ๆ อาจดูชืดเกินไป จึงมีการออกแบบติดภาพศิลปกรรมไว้ที่ผนังตลิ่ง ทำให้เกิดความงามขนาบสายน้ำเมื่อล่องเรือชมเมือง
การจัดแสดงภาพศิลปะบนกำแพง บริเวณริมตลิ่งของแม่น้ำแซนต์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
อาคารในเมืองท่องเที่ยว อาจมีการใช้กระเบื้องเซรามิกเข้ามาสร้างเป็นจุดสนใจใหม่ ๆ ทำให้เกิดจุด Check-in ที่นักท่องเที่ยวนิยมมายืนถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และเมื่อมองโอกาสในการเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกมาเป็นวัสดุในการสร้างงานศิลปกรรมติดตั้งในพื้นที่ของเมือง ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
ในยุคที่ประเทศจะสร้างโอกาสจากการท่องเที่ยว เรามีแหล่งท่องเที่ยว เราขยายอาคารสนามบินให้เป็นด่านหน้าในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เรามุ่งสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อพลิกโฉมการเดินทางด้วยรถไฟ เราฟื้นฟูซ่อมแซมโบราณสถานโดยการคัดลอกภาพจิตรกรรมระดับมรดกแผ่นดินออกมาให้ประชาชนได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิ ศิลปกรรมคือประจักษ์พยานที่จับต้องได้ แสดงความเป็นตัวตนแห่งบ้านเมือง คุณภาพของเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการความเป็นระบบ ระเบียบ ความสะอาด ความสวยงาม จนเกิดคุณภาพชีวิตที่ชุบชู จรรโลงใจประชาชน ผ่านการสร้างสรรค์พื้นที่ด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ยั่งยืน เพราะเรามีรากฐานทางวัฒนธรรมที่มากพอ เพียงแต่ต้องนำมาขับเคลื่อนให้เกิดเป็นผลประโยชน์และความภูมิใจของมวลชน