top of page

การอนุรักษ์งานจิตรกรรมฝาผนังในเชิงโบราณคดีสันนิษฐาน
เพื่อให้ได้ความสมบูรณ์แบบในอดีตกลับคืนมา

ปัจจุบันภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายภาพในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดทั่วประเทศที่มีความสำคัญและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทยได้ลบเลือนเสื่อมโทรมสูญเสียไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางภูมิอากาศที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะความชื้นจากน้ำใต้ดินที่ซึมขึ้นไปตามผนังอาคาร และปัญหาหลังคารั่ว ตลอดจนความทรุดร้าวของผนังอันเกิดจากการเสื่อมสภาพของโครงสร้างจากอายุของวัสดุและเทคนิคการก่อสร้างในอดีตที่ส่งผลเสียหายต่อจิตรกรรมฝาผนังอย่างรุนแรง

 

การบำรุงรักษาจิตรกรรมฝาผนังซึ่งถือเป็นมรดกทางศิลปกรรมอันล้ำค่าของแผ่นดิน โดยการบูรณะคัดลอกและซ่อมแซมภาพจิตรกรรมให้มีสภาพสมบูรณ์ ต้องมีการดำเนินการด้วยการใช้วิธีเชิงช่างให้ถูกต้องตามแบบของบรรพชนที่สร้างสรรค์เป็นลวดลายไว้ ปัจจุบันแนวคิดในการอนุรักษ์มรดกทางด้านศิลปกรรมได้มีกระบวนการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอนุรักษ์ เพื่อจะบันทึกผลงานและคัดลอกออกมาให้เสมือนจริงทุกองค์ประกอบ ในช่วงเวลานั้นๆ ลงบนแผ่นกระเบื้องเซรามิกขนาดเท่าจริง ทำให้สามารถเก็บงานจิตรกรรมในรูปแบบสำเนาให้อยู่ได้อย่างคงทนถาวร ใกล้เคียงงานศิลป์ต้นแบบมากที่สุด และสามารถนำมาติดตั้งจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือแหล่งจัดแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นการเผยแพร่อันเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ในอนาคต หลักฐานที่ปรากฏจะเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการอนุรักษ์ ในยามที่จิตรกรรมฝาผนังบางชิ้นอยู่ในขั้นวิกฤต ไม่สามารถรักษาหรือมีการรื้อฟื้นคืนกลับมาได้

 

อนึ่ง ภาพจิตรกรรมฝาผนังบางส่วน อาจเพิ่มเติมสันนิษฐาน โดยการเติมแต่งทดแทนส่วนที่ชำรุดให้สมบูรณ์แทนต้นฉบับเดิมและนำมาเปรียบเทียบกันได้ ตัวอย่างเช่น จิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำสหัสพุทธ เบเซลิค (Bezeklik Thousand Buddha Caves) ซึ่งถือเป็นมรดกทางศิลปกรรมอันล้ำค่าระดับโลกที่ได้ถูกคัดเลือกมาเพื่อทำการจำลองให้คนรุ่นปัจจุบันได้ซึมซับคุณค่าแห่งศิลป์ ถ้ำสหัสพุทธเบเซลิค (Bezeklik Thousand Buddha Caves) สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 6 เป็นศาสนสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ยังคงหลงเหลืออยู่อีกแห่งหนึ่งในเขตปกครองตนเองซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีภาพจิตรกรรมที่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ชาวอุยกูร์เคยนับถือพระพุทธศาสนามาก่อนที่จะนับถือศาสนาอิสลามในปัจจุบัน

Screen Shot 2564-03-30 at 9.40.42 AM.png
Screen Shot 2564-03-30 at 9.40.42 AM.png

ภาพต้นฉบับบนแผ่นหินได้ถูกตัดออกเป็นชิ้น ๆ แล้วนำไปติดตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

และได้ถูกทำลายเสียหายในช่วงสงครามโลก แต่ยังโชคดีที่ยังมีภาพถ่ายบันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐาน

1477648637_3.jpg

อีกหนึ่งภาพจิตรกรรมภายในถ้ำสหัสพุทธเบเซลิค ที่ได้จำลองเสร็จสมบูรณ์โดยผ่านการปรับแต่งรายละเอียดและสีสันของภาพ

ตามหลักฐานข้อมูลทางโบราณคดีโดยใช้คอมพิวเตอร์ และถูกจัดพิมพ์ลงบนแผ่นเซรามิกขนาดใหญ่ขนาด 3.06 x 2.26 เมตร

ปัจจุบันได้ติดตั้งที่ Ryukoku University เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับในประเทศไทยนั้น หากจะนำหลักการโบราณคดีสันนิษฐานดังกล่าวมาใช้กับงานจิตรกรรมฝาผนังก็น่าจะเป็นประโยชน์และก่อให้เกิดองค์ความรู้ เป็นหลักฐานอันทรงคุณค่าให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษา

 

จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี เป็นจิตรกรรมภาพเทพชุมนุมเรียงรายกัน 5 ชั้น ที่มีความงดงามวิจิตรและทรงคุณค่าทางศิลปะ เป็นมรดกศิลป์ควรค่าแก่การคัดลอกไว้ ซึ่งนักวิชาการทางศิลปะและนักโบราณคดียอมรับในฝีมืออันเกิดจากสกุลช่างเพชรบุรีชั้นครู ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง ภาพจิตรกรรมมีลักษณะเป็นภาพเขียนเต็มผนัง ซึ่งบางส่วนลบเลือนเกือบหมดแต่ยังพอเห็นร่องรอยของความงดงามได้ ช่างที่อยู่ในสมัยที่ภาพเขียนเจริญถึงขีดสุดเท่านั้น จึงจะสามารถวาดภาพจิตรกรรมที่งดงามเช่นนี้ได้ เป็นการควรอย่างยิ่งที่ต้องเก็บรักษาฝีมือช่างชั้นครูนี้ไว้ซึ่งเวลาผ่านไปอาจทำให้เลือนรางไปมากกว่านี้ การใช้แนวทางโบราณคดีสันนิษฐาน โดยใช้หลักการทางวิชาการที่ศึกษาเค้ารางที่คงอยู่เทียบเคียง สามารถเข้าไปช่วยเติมแต่งลวดลายที่ขาดหาย ซีดจาง ลางเลือน เพื่อฟื้นลวดลายเรื่องราวให้กลับมาสมบูรณ์ ด้วยการใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยสร้างลวดลายจิตรกรรมลงบนแผ่นกระเบื้องเซรามิกแผ่นใหญ่ (เทคนิคนี้เป็นการทำภาพสันนิษฐานในจุดที่ขาดหาย ประกอบกับลวดลายที่มีอยู่ให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ถ่ายทอดภาพสันนิษฐานลงในชิ้นสำเนา โดยไม่ไปรบกวนผนังจริง) ภาพที่ทำสำเนาดังกล่าว จะถูกบันทึกโดยการคัดลอกลงบนแผ่นกระเบื้องเซรามิก สามารถนำไปประกอบติดตั้งเพื่อจัดแสดงให้เป็นหลักฐานทางมรดกศิลป์ โดยจะคงความทนทาน สีไม่ซีดจางและยังคงสภาพความสดของเฉดสีได้ยาวนานนับร้อยปี

 

นอกจากนี้ ยังมีภาพจิตรกรรมสำคัญสกุลช่างครูชั้นเยี่ยมจำนวนมากที่ควรค่าแก่การคัดลอกไว้ อาทิเช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ด้วยฝีมืออันประณีตบรรจงของช่างชั้นครู สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีความสวยงาม มีความโดดเด่นที่แปลกและหาชมได้ยากในประเทศไทย โดยมีลักษณะการเขียนที่ผสมผสานระหว่างศิลปะสมัยต้นรัตนโกสินทร์จากกรุงเทพฯ และศิลปะพม่ารวมกับเรื่องราวประเพณีท้องถิ่นและสะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวล้านนา  โดยแสดงออกผ่านตัวละครจากวรรณกรรมที่มีความนิยม ซึ่งแตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังที่อื่น ๆ ที่เน้นเรื่องราวทางพุทธชาดกเป็นส่วนใหญ่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังทิศเหนือเขียนเรื่องสังข์ทอง ผนังทิศใต้เขียนเรื่องสุวรรณหงส์หรือสุวัณณสังขชาดก ถึงแม้ว่าภาพเขียนทั้ง 2 ผนังจะได้รับการอนุรักษ์มาแล้วหลายครั้ง แต่จากปัจจัยสภาพแวดล้อม ความชื้น ทำให้ภาพเขียนมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา บางผนังแทบจะเลือนราง โดยเฉพาะภาพเขียนผนังฝั่งทิศใต้ ซึ่งถ้าเรานำหลักการโบราณคดีสันนิษฐานดังกล่าวมาใช้ ก็จะสามารถรื้อฟื้นภาพในอดีตให้มีชีวิตคืนกลับมาสมบูรณ์สวยงามได้

IMG_7025 (1).JPG

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

IMG_0930 (1).jpg

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

หากนำแนวคิดในเชิงอนุรักษ์ด้วยการจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังไม่ว่าจะเป็นการจำลองเสมือนจริงหรือการนำโบราณคดีสันนิษฐานกลับมาฟื้นอดีตอันหาค่ามิได้ของจิตรกรรมไทยที่จารึกอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ นับได้ว่าเป็นอีกทางเลือกในปัจจุบัน ที่ควรจะรีบเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการบันทึกลมหายใจแห่งอดีตกาลให้กลับมาเป็นความภาคภูมิของประเทศว่าเรามีศิลปกรรมในรูปแบบจิตรกรรมล้ำค่าอยู่ทั่วไทย

bottom of page