เซรามิกสำหรับงานคัดลอกจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนัง อีกเทคนิคทางเลือก เพื่อการสืบสานรักษามรดกศิลป์ของไทย
ภาพจิตรกรรมไทยที่ปรากฏอยู่ในอาคารสถาปัตยกรรมไทยที่เรียกกันว่าจิตรกรรมฝาผนังนั้น ถือเป็นจิตรกรรมแบบแผนประเพณีไทย มีวัสดุสำคัญคือสีฝุ่นผสมกาวน้ำ ใช้เขียนประดับผนังคูหาของอาคาร เช่น อุโบสถ วิหาร หรือผนังกรุ ผนังคูหาเจดีย์ และบนกระดาษที่เย็บเป็นสมุดภาพ จิตรกรรมดั้งเดิมอาจมีอยู่ตั้งแต่สมัยทวารวดีมาแล้ว แต่ความที่เขียนวาดด้วยวัสดุที่ละลายน้ำได้ เมื่อน้ำฝนรั่วจากหลังคา รวมทั้งละอองน้ำ ความชื้นทั้งในอากาศและความชื้นที่ขึ้นมาจากใต้ดิน ความเค็ม จึงชำรุดเสียหาย ในปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังที่ยังพอเหลือให้ศึกษาได้ดี มีอายุอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เช่น จิตรกรรมผนังกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้ "พระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐฯ" ระบุว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ในพ.ศ. 1967 (2515: 446) ปรางค์ประธานองค์นี้ มีกรุมหาสมบัติอยู่ 3 กรุ เรียงลำดับอยู่ในระดับความสูงฐานของเจดีย์ (อยู่เหนือระดับพื้นดิน)
กรุที่ 1 อยู่บนสุด กรุที่ 2 อยู่ต่ำลงมา ต่างมีภาพจิตรกรรมผนังกรุ ส่วนกรุที่ 3 ซึ่งอยู่ต่ำสุด ไม่มีจิตรกรรมผนังกรุ ดังนั้น กรุที่ 1 และกรุที่ 2 จึงพ้นจากระดับพื้นดินขึ้นมามาก ทั้งยังมีกรุที่ 3 คั่นไว้ด้วย จิตรกรรมผนังของกรุที่ 1 และของกรุที่ 2 จึงไม่มีอันตรายมากนักจากความชื้นใต้ดิน
ด้วยสถานที่ของภาพจิตรกรรมที่เขียนอยู่ภายในผนังกรุในแกนกลางขององค์พระปรางค์ ทำให้พ้นจากการ ผุกร่อนเสื่อมสภาพจากการทำลายของสภาพทางธรรมชาติ อาทิ น้ำฝน แสงแดด ความชื้นจากพื้นดิน น้ำท่วม แต่กลับไม่รอดพ้นจากการขุดเจาะและปีนป่ายลงมาของเหล่ามิจฉาชีพที่มาลักลอบขุดกรุเพื่อหวังสมบัติ ทำให้ลวดลายบางส่วนสึกกร่อนเสียหาย ภายในองค์พระปรางค์มีกรุสำหรับเก็บเครื่องทองที่สำคัญ ดังนี้ ห้องกรุที่ 1 ผนังกว้างด้านละ 1.40 เมตร สูง 1.50 เมตร ห้องกรุที่ 2 ผนังกว้างด้านละ 1.40 เมตร สูง 2.50 เมตร
ภาพที่ 1 : ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จากการลงไปสำรวจและศึกษาวิเคราะห์ในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ของนักวิชาการ อีกทั้งการเตรียมการที่จะหาวิธีอนุรักษ์ด้วยแนวทางที่เหมาะสม นักวิชาการได้ศึกษาพบร่องรอยภาพที่หลงเหลือเพียงบางส่วนของภาพพุทธประวัติ ตอนพระนางสิริมหามายาบรรทมในพระมหาปราสาท (ภาพที่ 2, 3, 3 ก.) ทรงพระสุบินว่า พญาช้างเผือก "ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวพึ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตลบ...แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมครบถ้วน 3 รอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศฝ่ายพระทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี” (พระปฐมสมโพธิกถา, 2519, หน้า 80-81) ด้วยสภาพเสียหาย ภาพดังกล่าวจึงไม่ค่อยเป็นที่สังเกตหรือรู้จักกัน ทั้งที่มีความสำคัญ เพราะภาพพุทธประวัติตอนนี้เป็นตัวอย่างเดียวที่หลงเหลือให้รู้จักในปัจจุบัน (รวมทั้งภาพพระอดีตพุทธเจ้า ภาพพุทธประวัติตอนอื่น ๆ และภาพเรื่องชาดกของผนังกรุที่ 2 นี้ ที่บางส่วนถูกทำลายไปในคราวนั้น ) ไม่นับรวมความซีดจางอันเนื่องจากอายุขัยของสีที่เป็นส่วนผสมจากธรรมชาติ
ภาพที่ 3 : จิตรกรรมผนังกรุที่ 2 ภายในปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ
ปัจจุบันลวดลายและร่องรอยที่ปรากฏแม้จะรางเลือนไปตามสภาพกาล และการถูกทำลายจากการขุดเจาะปีนป่าย แต่มรดกจิตรกรรมในผนังทุกชั้นยังคงหลงเหลือสภาพเค้าราง สีสันที่เป็นภูมิปัญญาอันวิจิตรของบรรพชนในชั้นเชิงศิลป์แห่งศรัทธา การที่จะอนุรักษ์นอกจากซ่อมแซมกู้สภาพของภาพจิตรกรรมในผนังจริงนั้นย่อมมีข้อจำกัดอันเนื่องจากความผุกร่อนขององค์พระปรางค์ทั้งองค์ที่เป็นโครงสร้างที่มีอายุนับร้อยร้อยปี ดังนั้นภาพจิตรกรรมผนังกรุจึงควรค่าแก่การคัดลอกจำลองไว้เพื่อเป็นหลักฐานอันล้ำค่า ด้วยวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถบันทึกทุกรายละเอียดของภาพจิตรกรรมตามสภาพปัจจุบันลงบนแผ่นเซรามิกขนาดใหญ่พิเศษ โดยที่ยังคงขนาด และสีสันตามต้นฉบับทุกประการ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มเติม ดัดแปลงแก้ไขภาพจิตรกรรมที่มีความเสียหายทรุดโทรมให้กลับมาสวยงามสมบูรณ์เหมือนในครั้งอดีตบนแผ่นเซรามิกนี้ได้
ทางบริษัท เซรามิกา อิมเมจ จำกัด ได้เล็งเห็นความสำคัญของจิตรกรรมเก่าแก่ที่สำคัญนี้ จึงได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลเพื่อจัดทำโครงการคัดลอกและจำลองภาพจิตรกรรมภายในกรุวัดราชบูรณะลงบนแผ่นเซรามิก เพื่อเป็นการสงวนรักษา และเผยแพร่ให้ความรู้ ให้กับชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงคุณค่าของภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนต้น ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าจากบรรพบุรุษไทยสืบไป
ขณะนี้ทางบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการจัดทำโครงการสร้างและจำลองจิตรกรรมฝาผนังภายในห้องกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เพื่อจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้การกำกับดูแลและสนับสนุนจากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
จุดเด่นของการคัดลอกเพื่อจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยการพิมพ์ลงบนแผ่นเซรามิก
1. สามารถคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนัง ให้มีสีสันได้เหมือนต้นฉบับ เนื่องจากเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ที่มีปริมาณเฉดสีมากกว่า 30,000 สี
2. ขนาดของแผ่นเซรามิกที่สามารถทำได้ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นเซรามิกแผ่นเดียวที่มีขนาดใหญ่ถึง 90 x 270 ซ.ม. หรือ 60 x 300 ซ.ม.
3. คงทนต่อทุกสภาพภูมิอากาศ ทั้งแดด ฝน ไอเคมี และไอเค็มจากน้ำทะเล โดยที่สีสันไม่ซีดจาง อีกทั้งสามารถจับต้องสัมผัสได้
4. สามารถนำมาจำลองได้เหมือนกรุจริง โดยการนำแผ่นเซรามิกมาประกอบเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นซุ้ม มีความสมจริงทุกประการ
5. ดูแลรักษาและทำความสะอาดได้ง่ายดายเพียงเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำสะอาด