กรมศิลปากร จับมือ เซรามิกา อิมเมจ คัดลอกจิตรกรรมฝาผนังลงบนแผ่นเซรามิก ชมได้ที่หอศิลป์ เจ้าฟ้า
จิตรกรรมฝาผนัง สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดี งามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เรื่องที่เกี่ยวกับ ศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการเล่มพื้นเมืองต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัย และสาระอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตรกรรมไทย งานจิตรกรรมให้ความรู้สึกในความงามอันบริสุทธิ์น่าชื่นชม เสริมสร้างสุนทรียภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษยชาติ จิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณ เป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว บนฝาผนังปูนหรือไม้ ซึ่งง่ายต่อเสื่อมสลายตามกาลเวลา ประกอบกับการถูกทำลายด้วยฝีมือมนุษย์ ทั้งในรูปแบบของการทำลายโดยเจตนา และการอนุรักษ์ จากการซ่อมแซมภาพ จากช่างที่ไม่มีฝีมือทัดเทียมอย่างโบราณ อย่างไรก็ตามกรมศิลปากร ได้พยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่ออนุรักษ์จิตกรรมฝาผนังของไทย ที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งการวาดเลียนแบบด้วยวัสดุอุปกรณ์ ที่คงทนกว่า การถ่ายภาพไว้ ร่วมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อชะลอความเสื่อมสลาย นายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวในงานเสวนา “เทคนิคใหม่ในการจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนัง” ว่า วิธีการทีกรมศิลปากรใช้ในการอนุรักษ์จิตกรรมฝาผนังหลักๆ คือการถ่ายภาพและการให้ช่างเขียนคัดลอกลอกลงบนด้วยวิธีการเขียนสีลงบนผ้าใบ ซึ่งจะสามารถอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมยาวนานขึ้น แต่ในวันนี้มีเทคนิคที่สามารถ คัดลอกผลงานจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ลงบนแผ่นเซรามิก" ผนังที่ 1 ชื่อ “มงคลวิวาหะของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา” ซึ่งเป็นชิ้นงานแรกในประเทศไทย ถือว่าสมบูรณ์เหมือนจริงมาก แต่อย่างไรก็ตาม เทคนิคการจำลองภาพลงบนแผ่นเซรามิกก็เช่นเดียวกับเทคนิคอื่นๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของเทคนิคนี้ก็คือ สามารถเก็บงานจิตรกรรมในยุคก่อนไว้ ได้โดยไม่ต้องสัมผัสภาพ และสามารถจำลองจิตรกรรมจากพื้นที่ที่คับแคม เช่น จิตรกรรมฝาผนังในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ มาให้ประชาชนชมได้ง่ายขึ้น สำหรับข้อเสีย คือ ต้องใช้ช่างภาพที่มีฝีมือดีมาก และมีราคาสูง กรมศิลปากร อยู่ระหว่างหาข้อสรุป ในการใช้เทคนิคการจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนัง ลงบนแผ่นเซรามิก มาจำลองกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถ้ามีงบประมาณมากพอก็จะจำลองทั้งกรุ มาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์สภาแห่งชาติเจ้าสามพระยา ที่จัดแสดงเครื่องทองที่คนพบที่วัดแห่งนี้อยู่แล้ว “ ที่เลือกกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ก็เนื่องจากว่า มีพื้นที่ขนาดเล็ก และอยู่ใต้ดิน มีความชื้นสูง จึงจะเป็นต้องได้รับการคักลอกไว้ก่อนที่จะสูญสลาย และงบประมาณที่ก็ไม่สูงมาก พอที่จะขอความร่วมมือ จากภาคเอกชน ที่มีนโยบายในการอนุรักษ์ และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม” นายเขมชาติ กล่าว นายจักรวาล บรรดาประณีต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซรามิกา อิมเมจ จำกัด กล่าวถึงที่มาในการนำเทคนิคจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังลงบนแผ่นเซรามิก ว่า หลังจากได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ โอสุกะ มิวเซียม ออฟ อาร์ต ( OTSUKA MUSEUM OF ART) ในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้นำเทคนิคนี้จำลองภาพต้นแบบของศิลปินระดับโลกไว้จำนวนมาก จึงเกิดความประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะผลงานที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เหมือนชิ้นงานจริงทุกประการ บริษัทฯ ได้ประสานงานเพื่อหารือกับนายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร และนายสมศักดิ์ แตงพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านช่างศิลปกรรม สำนักโบราณคดี ได้ทราบข้อมูลว่ากลุ่มงานอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม ได้ทำงานซ่อมอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์อยู่หลายคราว ได้เคยไปดูการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าว จึงเกิดไอเดียคิดถึงการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังเพื่อประโยชน์ในการสงวนรักษาในอนาคต กลุ่มบริษัทฯ เห็นว่ากรรมวิธีการจำลองจิตรกรรมบนแผ่นเซรามิก เป็นเทคนิคใหม่ ที่จะช่วยทดแทนการคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสงวนรักษา อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน จึงได้คัดลอกจิตรกรรมฝาผนังห้องด้านหลัง ตอน มงคลวิวาหะของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา เพื่อพิมพ์ลงบนแผ่นเซรามิคซึ่งมีขนาดเท่าจริง และทางกลุ่ม บริษัทฯ มีความประสงค์จะนำแผ่นเซรามิคดังกล่าว มอบให้กับทางกรมศิลปากร เพื่อนำไปติดตั้งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ เจ้าฟ้า บริษัทฯ จึงได้จัดทำโครงการนำร่อง การจำลองจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์บนแผ่นเซรามิก ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่จากประเทศญี่ปุ่น โดยกรรมวิธีในการสงวนรักษาศิลปกรรมอีกวิธีหนึ่ง ร่องรอยสภาพจิตรกรรมทั้งสี เส้น องค์ประกอบความชำรุด จะบันทึกเหมือนจริงทุกประการ สามารถจำลองภาพจิตรกรรมให้อยู่ในสภาพเดิม ทั้งสีสัน ความงดงาม ขนาดของรูปภาพที่ เท่าจริง และองค์ประกอบอื่นๆ ได้เหมือนต้นฉบับ ด้วยเทคโนโลยีในการเผาด้วยความร้อนสูงถึง 1,300 องศาเซลเซียส จึงทำให้แผ่นเซรามิค มีความแกร่งทนทาน ทนต่อรอยขีดข่วน และคงความสวยงามได้ นานถึง 2,000 ปี จากการค้นคว้า ทำให้ เรามีสีมากถึง 30,000 เฉดสี ทำให้สามารถ จำลองภาพได้เหมือนจริงทุกประการ ดูแลรักษา ง่าย เพียงการใช้ผ้าชุบน้ำทำความสะอาด สำหรับบริษัท โอสุกะ โอมิ เซรามิก จำกัด (Otsuka Ohmi Ceramiccs Co.,Ltd.) ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ผลิตแผ่นเซรามิกพิเศษนี้ให้กับทางบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองชิการาคิ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่น บริษัท เซรามิกา อิมเมจ จำกัด เป็นบริษัท ในเครือ เอ. เอฟ กรุ๊ป คอมพานี มีนโยบายที่จะร่วมมือในด้านเทคนิคกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการสงวนรักษา อนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังในศาสนสถานที่สำคัญต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งแนวทางการอนุรักษ์ในปัจจุบัน ใช้ระยะเวลานานในการคัดลอกภาพ และไม่มีความคงทนถาวร บริษัท เซรามิกา อิมเมจ จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2552 เป็นตัวแทนในการจัดทำและผลิต Ceramic Art ซึ่งเป็นการคัดลอกภาพจิตรกรรมตามต้นแบบ คัดลอกและตกแต่ง ซ่อมแซมภาพเพื่อให้ภาพสมบูรณ์แบบเหมือนในอดีต หรือสร้างสรรค์ภาพขึ้นมาใหม่ Ceramic Portrait คือการใช้เทคนิคการจำลองภาพนี้ กับภาพถ่ายบุคคลชั้นนำของของประเทศ ลงบนแผ่นเซรามิก เพื่อใช้เป็นที่ระลึกเนื่องในวาระ และโอกาสสำคัญต่างๆ และ Ceramic Sign ซึ่งเป็นการผลิตเซรามิกสำหรับงานป้ายและสัญลักษณ์เพื่อการสื่อสารสาธารณะ ด้วยเทคนิคนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรักษาภาพต้นแบบของจิตรกรรมฝาผนังของไทย ไว้นานเท่านาน